ประกันคีย์แมนทำอย่างไรให้ถูกต้องและถูกใจสรรพากร
ประกันคีย์แมนทำอย่างไรให้ถูกต้องและถูกใจสรรพากร
แม้ประกันคีย์แมนจะไม่ใช่เรื่องใหม่ คือตามหลักฐานที่พบใน website ของกรมสรรพากรก็เริ่มมีตั้งแต่ปี 2543 แต่ก็ยังมีให้เห็นให้ได้ยินว่า ลูกค้าทำแล้วสรรพากรไม่ยอมให้นำไปเป็นรายจ่ายทางภาษีได้ สุดท้ายต้องบวกกลับเป็นรายได้และเสียภาษีเพิ่มเติมทั้งกิจการและกรรมการ
การจะทำประกันคีย์แมนให้ถูกต้องและถูกใจสรรพากร ควรอยู่ภายใต้ “ความเหมาะสม” ซึ่งความเหมาะสมที่ว่านั้น เอาจริงๆสรรพากรก็ไม่ได้กำหนดออกมาเป็นตัวหนังสือในแต่ละประเด็น เป็น “ดุลพินิจ” ล้วนๆ ดังนั้นเพื่อเป็นการ “PLAY SAFE” มี 4 ประเด็นที่ควรพิจารณาดังนี้
1. เบี้ยประกันรวมของกิจการที่สามารถทำได้สูงสุด
คือไม่มากเกินไปจนดูเหมือนว่าพยายามเลี่ยงภาษีหรือยักย้ายถ่ายเทเงินออกจากกิจการ ตัวเลขหรือจำนวนเบี้ยที่เหมาะสมแม้สรรพากรไม่ได้ระบุชัดเจนว่ากี่ % ของรายได้ หรือกี่ % ของรายจ่าย ประเด็นสำคัญที่ควรพิจารณาคือ รายได้และค่าตอบแทนกรรมการ เนื่องจากเบี้ยประกันถือเป็นประโยชน์เพิ่ม เป็นเงินได้พึงประเมินที่ต้องนำไปรวมในหมวด “ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร”
• เบี้ยประกันรวมไม่ควรเกินกว่ารายได้และค่าตอบแทนกรรมการ
• เบี้ยประกันรวมไม่มากจนทำอัตรากำไรสุทธิของกิจการลดลงไปจากเดิมมาก
2. ผู้เอาประกัน (คีย์แมน)
• ถ้าจะทำให้ระดับกรรมการก็ต้องทำให้กับกรรมการทุกคน ตามหนังสือรับรองจดทะเบียนบริษัท
• ถ้าจะทำให้ระดับผู้บริหาร ผู้จัดการฝ่าย ก็ต้องทำให้ครบทุกคนที่อยู่ระดับเดียวกัน แต่ทุนประกัน แบบประกัน และเบี้ยประกันไม่จำเป็นต้องเหมือนกันหรือเท่ากัน เพราะขึ้นอยู่กับความสำคัญของแต่ละคน อีกทั้ง อายุ และเพศอีกด้วย
3. แบบประกันที่เหมาะสม
ได้ทุกประเภทที่ไม่ใช่ประกันควบการลงทุน (Unit Linked) เนื่องจากเบี้ยประกันบางส่วนของเบี้ยประกันนำไปลงทุนซึ่งถือเป็นรายจ่ายต้องห้าม ตามมาตรา 65 ตรี (5)
• กรรมการสามารถทำประกันคนละแบบได้ ไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน
4. เอกสารเพื่อเป็นหลักฐานในการตรวจสอบ
• รายงานการประชุมผู้ถือหุ้น
• หนังสือรับรองการชำระเบี้ยประกันภัย
จาก 4 ประเด็นข้างต้น ข้อพิดพลาดที่พบบ่อยคือข้อแรก เรื่องเบี้ยประกันรวมที่มักจะทำมากเกินไป เพื่อให้มั่นใจว่า “เหมาะสม” หรือไม่ จะถูกใจสรรพากรหรือป่าว ควรขอคำแนะนำจากผู้ที่เชี่ยวชาญ Star Group ยินดีให้คำปรึกษา
13 กันยายน 2567
ผู้ชม 43 ครั้ง